เทคนิคตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมให้ปัง โดนใจลูกค้า ผ่าน อย.

Last updated: 23 พ.ย. 2565  |  2898 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เทคนิคตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมให้ปัง โดนใจลูกค้า ผ่าน อย.

การตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริม หรือการตั้งชื่อแบรนด์อาหารเก๋ ๆ นั้นสำคัญสำหรับผู้เริ่มต้นสร้างแบรนด์เป็นอย่างมาก เพราะชื่อที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์จะช่วยให้ลูกค้าจดจำชื่อแบรนด์อาหารเสริมของเราได้ง่าย ติดปาก และสามารถบอกต่อได้ โดยการตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมนั้นมีหลากหลายเทคนิควิธีการตั้งชื่อแบรนด์ให้เป็นที่จดจำได้ง่าย และไม่เหมือนใคร 

แต่นอกจากจะตั้งชื่อแบรนด์ให้จดจำได้ง่ายแล้ว เรายังต้องตั้งชื่อเพื่อให้สามารถยื่นจดทะเบียนกับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ด้วย และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 

ในบทความนี้ Derma Heath จะพาทุกคนมาดูเทคนิคตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมยังไงให้โดนใจลูกค้า แถมยังผ่านอย. อีกด้วย มาดูกันเลยค่ะ

 

หลักการตั้งชื่อแบรนด์ให้ปัง โดดเด่นจนลูกค้าจำได้

  ตั้งชื่อแบรนด์ให้อ่านง่าย เห็นครั้งเดียวจำได้เลย

การตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมให้น่าจดจำควรเป็นชื่อแบรนด์ที่อ่านง่าย เข้าถึงได้ ลูกค้าอ่านแล้วติดปากหรือเห็นครั้งเดียวแล้วจำได้เลย รวมถึงควรตั้งชื่อแบรนด์ให้สื่อถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดนั้น ๆ ด้วย นอกจากนี้การตั้งชื่อแบรนด์ให้เป็นที่จดจำควรดูภาพลักษณ์โดยรวมของแบรนด์ด้วยว่าควรตั้งไปทิศทางไหน เพื่อเสริมให้ลูกค้าจำได้แม่นยำขึ้น

หากใครสนใจอ่านบทความสร้างแบรนด์อาหารเสริมสามารถอ่านได้ที่นี่ : 10 ขั้นตอนสร้างแบรนด์อาหารเสริม เริ่มต้นอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

 

  ตั้งชื่อแบรนด์ให้สื่อถึงสินค้า เกี่ยวข้องกับอาหารเสริมที่เราขาย

หลาย ๆ คนคิดว่าการออกสินค้าครั้งแรก ควรตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมที่แตกต่างจากชื่อแบรนด์หลักหรือตั้งชื่อใหม่ไปเลย แต่การตั้งชื่อที่ไม่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของเรา หรือตั้งชื่อใหม่นั้นอาจไม่แนะนำเท่าใดนัก เนื่องจากการคิดชื่อแบรนด์ใหม่จะไม่ค่อยเป็นที่จดจำและทำให้ลูกค้าคิดว่าเป็นสินค้าของแบรนด์อื่น

ดังนั้นคำแนะนำสำหรับการตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมที่ดี ลูกค้าจดจำง่ายคือ ควรตั้งชื่อแบรนด์ให้สื่อถึงสินค้า และเกี่ยวข้องกับอาหารเสริมที่ขาย หรือจะตั้งชื่อแบรนด์เป็นชื่อสินค้าเดียวกับสินค้าเลยก็ได้ เพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าอาหารเสริมของเราจดจำชื่อแบรนด์ไปพร้อม ๆ กันได้ง่ายขึ้น

 

  ตั้งชื่อแบรนด์ให้มีเรื่องราวน่าสนใจ ดึงดูดลูกค้า

เทคนิคการตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมที่น่าสนใจอีกหนึ่งวิธีคือ การตั้งชื่อแบรนด์ให้มีเรื่องราวนั้นจะเกี่ยวข้องกับการสร้างตัวตนของแบรนด์ (Personal Branding) โดยเคล็ดลับการคิดคอนเซปต์ชื่อแบรนด์ง่าย ๆ คือ ให้นำเอา “ความต้องการของลูกค้า” มารวมกับ “จุดขายของสินค้า” ก็จะได้ตัวตนของแบรนด์เราว่า แบรนด์อาหารเสริมของเรานั้นมีคาแรกเตอร์แบบไหน เพื่อนำไปใช้เป็นข้อความสื่อสารให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า การตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมให้มีเรื่องราวน่าสนใจจะช่วยดึงดูดลูกค้าให้จดจำแบรนด์ของคุณได้มากขึ้น

 

  ควรตั้งชื่อแบรนด์ไม่ยาวเกิน 3 พยางค์

นอกจากการตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมที่เข้าใจง่ายแล้ว เราควรตั้งชื่อแบรนด์ให้กระชับ ไม่ยาวจนเกินไป หรือไม่ควรเกิน 3 พยางค์ เพราะคำสั้น ๆ จะเป็นที่จดจำมากกว่าคำที่ยาว ๆ อ่านแล้วติดปากได้ง่าย หากนำเทคนิคการเล่นเสียงหรือการเล่นคำมาผสมด้วย จะยิ่งเพิ่มเอกลักษณ์และความโดดเด่นให้กับแบรนด์ แถมยังได้ชื่อแบรนด์อาหารเก๋ ๆ อีกด้วย

 

  ควรเลือกตั้งชื่อแบรนด์ที่ไม่คล้ายกับแบรนด์อื่นมากจนเกินไป

แน่นอนว่าการตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมของเรานั้น ไม่ควรตั้งชื่อที่คล้ายกับแบรนด์อื่นมากเกินไป เพราะจะทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่มองว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของคุณนั้นเป็นของเลียนแบบและไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้แบรนด์ของคุณจะไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองด้วย

 

  ตั้งชื่อแบรนด์โดยคำนึงถึงการนำไปใช้ เช่นการทำโลโก้

การตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมควรคำนึงการนำไปใช้ด้วย เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ การทำโลโก้ หรือการทำของสัมมนาคุณเล็ก ๆ เพื่อช่วยต่อยอดให้ลูกค้าได้เห็นและจดจำทั้งตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โลโก้สินค้า เป็นต้น โดยเราอาจใช้เทคนิคการตั้งชื่อแบรนด์ไม่เกิน 3 พยางค์มาใช้ประกอบด้วย เพราะชื่อแบรนด์ที่สั้น กระชับ จะทำให้ลูกค้าจดจำได้ง่ายขึ้น

 

  ตั้งชื่อแบรนด์โดยเป็นไปตามข้อกฎหมาย

ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญมากสำหรับการตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริม เพราะชื่อแบรนด์อาหารเสริมที่ดีจะต้องผ่านเกณฑ์การตั้งชื่อของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. โดยมี 2 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

  1. ไม่เป็นเท็จหรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร 
  2. ต้องไม่กล่าวอ้างสรรพคุณที่เกินจริง

 

ตั้งชื่อแบรนด์อย่างไรให้ผ่าน อย. 

 

  ตั้งชื่อที่มีความหมาย แต่ไม่สื่อถึงสรรพคุณ

การตั้งชื่อที่สามารถแปลความหมายได้ แต่ไม่สื่อถึงสรรพคุณใด ๆ ก็ตามของผลิตภัณฑ์ สามารถนำมาใช้ตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมได้ เช่น Brand เป็นต้น

 

   แปลแล้วไม่มีความหมาย

สามารถใช้ชื่อที่แปลโดยพจนานุกรมแล้วไม่มีความหมายมาตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมของตนเองได้ หรือการประกอบคำใหม่ 

 

  ชื่อบริษัทหรือชื่อบุคคล

การตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมสามารถนำชื่อบริษัทหรือชื่อบุคคลมาใช้ในการตั้งชื่อได้ โดยต้องไม่สื่อความหมายขัดตามกฎเกณฑ์การตั้งชื่อ เช่น Derma Collagen และต้องอธิบายว่า Derma คือชื่อย่อของบริษัท Derma Health โดยแนบสำเนาหนังสือรับรองบริษัท พร้อมเซ็นรับรอง เป็นต้น

 

  ไม่ตั้งชื่อที่สื่อถึงผลลัพธ์ หรือเกินความเป็นจริง

การตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมนั้นต้องไม่ตั้งชื่อที่สื่อถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการรับประทาน เช่น White, Slim, Good, Loss, More, Best เป็นต้น อันทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด คิดว่าสามารถใช้ในการรักษาหรือคาดหวังผลลัพธ์จากการรับประทานได้ นอกจากนี้หากเป็นชื่อที่สื่อถึงอายุ เพศ รูปร่าง ผิวพรรณ การลด การเพิ่มขึ้น ก็ไม่ผ่านเช่นเดียวกัน

 

  ไม่ตั้งชื่อที่พ้องเสียง หรือเล่นคำ

ชื่อของแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต้องไม่พ้องกับคำที่มีความหมายที่อวดอ้างสรรพคุณ ทั้งภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศ เช่นคำว่า Slim Klear ที่คำว่า Klear พ้องเสียงกับคำว่า Clear เป็นต้น ส่วนการเล่นคำในที่นี้หมายถึงชื่ออาหารเสริมจะต้องไม่มีการลดทอนเสียงหรือเพิ่มเสียง ที่อาจสื่อถึงสรรพคุณของอาหารเสริมนั้น ๆ เช่น Snowy ที่มีคำคล้ายกับคำว่า Snow แปลว่า หิมะ ที่อาจสื่อถึงความขาวได้ เป็นต้น

 

  หลักเกณฑ์พิจารณาอื่น ๆ

  • การตั้งชื่อแบรนด์อาหารเสริมต้องไม่ส่งเสริมหรืออาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความแตกแยก หรือผลกระทบในเชิงลบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสังคม วัฒนธรรม ศีลธรรม ประเพณี หรือพฤติกรรมที่เกี่ยวกับเพศ ภาษา และความรุนแรง

  • ไม่เป็นเท็จหรือหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร หรือไม่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ

  • ไม่ทำให้เข้าใจว่ามีวัตถุอื่นใดผสมอยู่ โดยไม่มีวัตถุนั้นผสมอยู่หรือมีในปริมาณที่ไม่อาจแสดงสรรพคุณได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้