GMP หลักเกณฑ์ในการผลิตอาหารเสริมอย่างปลอดภัยที่โรงงานต้องมี

Last updated: 22 พ.ย. 2565  |  1111 จำนวนผู้เข้าชม  | 

GMP หลักเกณฑ์ในการผลิตอาหารเสริมอย่างปลอดภัยที่โรงงานต้องมี

หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่สนใจจะเป็นเจ้าของกิจการ สั่งผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย เวลาเสิร์ชหาโรงงานรับผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในแบรนด์ของลูกค้า เช่น โรงงานผลิตอาหารเสริม โรงงานผลิตเครื่องสำอาง มักจะโฆษณาโรงงานของตนว่ามีใบรับรอง GMP HACCP ISO เลขต่าง ๆ มากมาย แล้วตัวอักษรย่อเหล่านี้มีความสำคัญอย่างไร? ในบทความนี้จะมาให้ความรู้คร่าว ๆ เกี่ยวกับ GMP คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับโรงงานกัน 

 

GMP คืออะไร ?

GMP (Good Manufacturing Practice) เป็นหลักปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหารที่ออกแบบมาเพื่อเป็นหลักพื้นฐานจำเป็นในไลน์การผลิต เพื่อให้อาหารที่ผลิตออกมานั้นมีความปลอดภัย ป้องกันและกำจัดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อาหารเป็นอันตราย ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค 

ดังนั้น GMP จึงเป็นมาตรฐานหลักที่จำเป็นต้องมีในระบบโรงงานต่าง ๆ เป็นระบบประกันคุณภาพว่าโรงงานนั้นมีหลักปฏิบัติและมาตรฐานที่ถูกต้องในการผลิตอาหาร โรงงานนั้น ๆ สามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค 

โดยมาตรฐาน GMP เป็นระบบประคันคุณภาพขั้นพื้นฐานก่อนนำไปสู่ระบบประกันคุณภาพอื่น ๆ ที่สูงขึ้นและเจาะจงมากขึ้นอย่างเช่น HACCP (Hazards Analysis and Critical Points) HALAL ISO เป็นต้น

 

หลักการของ GMP


ระบบ GMP จะมีหลักการปฏิบัติที่ครอบคลุมทุกกระบวนการพื้นฐานการผลิตผลิตภัณฑืภายในโรงงาน ไม่ว่าจะตั้งแต่สถานที่ประกอบการ อยู่ในจุดที่เหมาะสมกับโรงงานนั้น ๆ หรือไม่ มีโครงสร้างอาคารที่ปลอดภัยไหม กระบวนการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนแรกยันขั้นตอนสุดท้ายตั้งแก่การวางแผนการผลิต การจัดหา ควบคุมวัตถุดิบ ระบบการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจัดเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ แม้กระทั่งกระบวนการขนส่งตลอดจนถึงมือผู้บริโภค


ทั้งหมดนี้เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคจะได้ใช้มีคุณภาพและปลอดภัย โดยรับประกันจากมาตรฐาน GMP นั่นเอง

 

GMP มีกี่ประเภท ?

GMP มีทั้งหมด 2 ประเภท ดังนี้

  GMP สุขลักษณะทั่วไป (General GMP) 

General GMP หรือ GMP ทั่วไปเป็นหลักเกณฑ์ หลักปฏิบัติขึ้นพื้นฐานที่นำไปใช้สำหรับโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ทั่วไป โดยจะมีข้อกำหนดอยู่ 6 ข้อหลัก คือ สถานที่ตั้งและอาคารผลิต เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิต การควบคุมกระบวนการการผลิต การสุขาภิบาล การบำรุงรักษาและทำความสะอาด และบุคคลกรและสุขลักษณะของผู้ปฏิบัติงาน

  GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ (Specific GMP)

Specific GMP จะเป็นหลักเกณฑ์ที่จำเพาะกว่า General GMP เพื่อเน้นในเรื่องความเสี่ยงและความปลอดภัยของแต่ละผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่นผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม จะต้องผลิตตามหลักเกณฑ์ของ Specific GMP โดยมีข้อกำหนดเพิ่มเติมในเรื่องแหล่งน้ำ การปรับคุณภาพของน้ำ บรรจุภัณฑ์ การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อ และการบรรจุ

 

ข้อกำหนดหลักของ General GMP ดูอะไรบ้าง ?

ระบบ GMP ออกแบบมาเพื่อเป็นตัวรับประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ว่าผลิตภัณฑ์จากโรงงานที่มี GMP จะมีความปลอดภัย ดังนั้นโรงงานที่จะมี GMP จะต้องมีข้อปฏิบัติที่เหมาะสมดังนี้

  สถานที่ตั้งและอาคารผลิต

  • สถานที่ตั้งตัวอาคารและพื้นที่ใกล้เคียง จะต้องอยู่ในบริเวณที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนต่ออาหารได้ง่าย โดยสถานที่ตั้งโรงงานจะต้องไม่อยู่ใกล้เคียงกับแหล่งที่สกปรก เช่น ใกล้กับสถานที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล หรือโรงงานที่ผลิตจำพวกสารเคมี หรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่สร้างมลภาวะมาก ๆ บริเวณที่ตั้งอาคารจะต้องไม่เป็นพื้นที่น้ำขัง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ แมลง และเชื้อก่อโรค

  • ตัวอาคารผลิตจะต้องมีการออกแบบที่เหมาะสม สามารถทำความสะอาดและบำรุงรักษาได้ง่าย นอกจากนี้ยังต้องวางแผนให้สามารถปฏิบัติงานได้สะดวก

  • พื้น ผนัง และเพดานอาคารผลิตจะต้องมีวัสดุที่แข็งแรง และสามารถทำความสะอาด ซ่อมแซมบำรุงรักษาได้ง่าย ๆ ตลอดเวลา

  • มีการแยกพื้นที่ปฏิบัติงานและพื้นที่อาศัยอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องแบ่งพื้นที่ในการผลิตให้เป็นสัดเป็นส่วนเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ และป้องกันการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์

  • จัดให้มีแสงสว่างและระบบระบายอากาศอย่างเหมาะสม

  • มีมาตรฐานในการป้องกันสัตว์และแมลงเข้ามาภายในอาคารผลิต

  • ไม่มีสิ่งของที่ไม่เกี่ยวข้องหรือสิ่งของที่ใช้แล้ววางอยู่ในบริเวณการผลิต

  เครื่องมือและเทคโนโลยีในการผลิต

  • ภาชนะ อุปกรณ์ในการผลิตใด ๆ ที่มีการสัมผัสกับผลิตภัณฑ์จะต้องทำจากวัสดุที่ไม่ทำปฏิกิริยาใด ๆ กับผลิตภัณฑ์จนอาจเกิดเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และยังต้องสามารถทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย

  • การออกแบบการติดตั้งเครื่องมือการผลิต เครื่องจักร อุปกรณ์แปรรูป จะต้องคำนึงถึงการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้น ควรจะมีการติดตั้งเครื่องจักรในลักษณะที่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง ไม่ข้ามไปข้ามมาจนเสี่ยงต่อการปนเปื้อนระหว่างผลิต 

  • เครื่องมือ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกันการผลิตจะต้องมีจำนวนเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน

  การควบคุมกระบวนการผลิต

การดำเนินการทุกขั้นตอนจะต้องควบคุมการผลิตตามหลักสุขาภิบาล ตั้งแต่การตรวจรับวัตถุดิบ การขนย้าย การจัดเตรียม การผลิต การบรรจุ การเก็บรักษาและการขนส่ง

  • วัตถุดิบและส่วนผสมจะต้องอยู่ในสภาพดี สะอาด สามารถใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ได้ โดยผู้ปฏิบัติจะต้องทำความสะอาดมือและวัตถุดิบ เพื่อกำจัดสิ่งปนเปื้อนที่มากับวัตถุดิบ และต้องมีการเก็บรักษาวัตถุดิบให้อยู่ในสภาวะปลอดเชื้อ ป้องกันการปนเปื้อนก่อนนำมาเข้าสู่กระบวนการผลิต 

  • มีการจัดการสต็อกของวัตถุดิบอย่างเป็นระบบ เรียงลำดับการใช้งานวัตถุดิบจากของที่เข้ามาก่อนทุกครั้ง ลดปัญหาวัตถุดิบหมดอายุ และเกิดการปนเปื้อน

  • น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนจะต้องเป็นน้ำสะอาดสำหรับบริโภคเท่านั้น 

  • ตลอดกระบวนการผลิตจะต้องระวังการใช้งานอุปกรณ์ ภาชนะที่สัมผัสกับวัตถุดิบ จะต้องมีความสะอาดไม่ปนเปื้อน

  • การดำเนินการผลิตในแต่ละขั้นตอนจะต้องทำตามลำดับอย่างเหมาะสม

  • มีการจดบันทึกรายงานกระบวนการผลิต เช่น ผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ ชนิดและปริมาณการผลิต และวันเดือนปีที่ผลิต

  สุขาภิบาล

  • จัดให้มีห้องน้ำและอ่างล้างมืออย่างเพียงพอต่อจำนวนผู้ปฏิบัติงาน และจะต้องถูกสุขลักษณะ เช่น มีอุปกรณ์ล้างมือครบถ้วน และจะต้องตั้งอยู่ในจุดที่ห่างจากไลน์ผลิต ลดการปนเปื้อน

  • จัดให้มีอ่างล้างมือในบริเวณไลน์ผลิตอย่างเหมาะสม และมีอุปกรณ์ล้างมือครบถ้วน

  • มีวิธีกำจัดสัตว์และแมลงบริเวณสถานที่ผลิตอย่างเหมาะสม

  • มีภาชนะรองรับขยะมูลฝอย ขยะที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตที่มีฝาปิดอย่างเพียงพอ และมีระบบกำจัดขยะที่เหมาะสม

  • มีการจัดการระบายน้ำทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต

 การบำรุงรักษา

  • ตัวอาคารผลิตจะต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ

  • บริเวณพื้นที่ผลิต รวมถึงเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ใด ๆ ในกระบวนการผลิตจะต้องอยู่ในสภาพที่สะอาดทั้งก่อนเริ่มต้นการผลิตและหลังปฏิบัติงาน 

  • ตรวจสอบสภาพเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ใด ๆ ในกระบวนการผลิต จะต้องอยู่ในสภาพดี ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

  • มีการจัดเก็บอุปกรณ์ ภาชนะในการผลิตในที่จัดเก็บอย่างเหมาะสม

 บุคลากร

  • ผู้ปฏิบัติงานในบริเวณการผลิตจะต้องไม่เป็นโรคติดต่อ โรคน่ารังเกียจตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือมีบาดแผลใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์

  • ผู้ปฏิบัติงานทุกคนจะต้องสวมเสื้อผ้าที่สะอาดและเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน ดังนี้

  • สวมหมวก หรือผ้าคลุมผม 

  • ไม่สวมเครื่องประดับใด ๆ รักษาสุขอนามัยของมือและเล็บให้สะอาดอยู่เสมอ

  • ใช้ถุงมือที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ขาดจนทำให้มีการซึมผ่านของเหลวออกมาหรือเข้าไปในถุงมือได้ และถุงมือจะต้องไม่ทำจากวัสดุที่มีสารละลายอันตราย สามารถปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ได้

  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนและหลังปฏิบัติงาน

  • จัดให้มีการอบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับสุขลักษณะที่ดีในการผลิต 

 

ประโยชน์ของ GMP

ที่โรงงานผลิตต่าง ๆ ออกมาโฆษณาว่าโรงงานของตนมี certificate GMP นะ ทำไมโรงงานเหล่านั้นต้องออกมาประกาศด้วย? เพราะ GMP มีประโยชน์มากมาย 

  • เพราะ GMP เป็นการรับประกันว่าผลิตภัณฑ์จะมีปลอดภัยต่อการบริโภค

  • GMP เป็นแนวทางการผลิตที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ ล็อตการผลิต

  • GMP ช่วยให้ระบบการควบคุมการผลิต การรักษาความสะอาดภายในโรงงานทำได้ง่ายขึ้น

  • GMP ช่วยลดข้อผิดพลาดในการผลิตลง 

  • เมื่อปฏิบัติตามหลัก GMP จะช่วยให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐาน ลดปัญหาของหลุด QC ลดต้นทุนการผลิตได้

  • ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย

  • GMP เป็นระบบที่สามารถเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน และการประเมินโรงงาน

 

  GHPs อีกหนึ่งมาตรฐานที่เหนือกว่า

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอีกระบบหนึ่งที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก GMP คือ GHPs ซึ่งระบบจะยิ่งเน้นถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ในทุก ๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง ไปถึงผู้บริโภค เรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานที่เน้นความสะอาดและความปลอดภัยมากกว่า GMP สมกับชื่อ Good Hygiene Practice(s) หากสนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ GHP ของเรา

 

สรุปความสำคัญของ GMP โรงงานที่ได้มาตรฐานต้องผ่านทุกข้อ!

GMP เป็นระบบที่ช่วยให้โรงงานสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ ดังนั้น GMP จึงเป็นหลักปฏิบัติสำคัญที่โรงงานทุกโรงงานจะต้องมี และการที่โรงงานนั้น ๆ จะได้ใบรับรอง GMP นั้นผู้ตรวจสอบจะต้องประเมินแล้วว่าโรงงานนั้น ๆ ปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ทุกข้ออย่างถูกต้อง

โรงงานผลิตอาหารเสริมของเรา Derma Health ได้รับมาตรฐาน GHPs, HACCP, FDA Green Industry, HALAL จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจากโรงงานของเรามีความปลอดภัยและมีมาตรฐานระดับสากล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้