" เครื่องหมายฮาลาล " สำคัญอย่างไรในธุรกิจอาหารเสริม ?

Last updated: 18 พ.ย. 2565  |  3150 จำนวนผู้เข้าชม  | 

" เครื่องหมายฮาลาล " สำคัญอย่างไรในธุรกิจอาหารเสริม ?

เมื่อพูดถึง ‘ฮาลาล’ อย่างแรกที่ใครหลายคนนึกถึงคืออาหารที่ชาวมุสลิมสามารถรับประทานได้โดยการห้ามนำเนื้อหมูมาประกอบอาหาร แต่ฮาลาลมีความหมายเพียงเท่านั้นจริงหรือ? ความจริงแล้วอาหารฮาลาลไม่ใช่เพียงแค่เนื้อหมูที่ชาวมุสลิมไม่ทาน แต่ยังรวมไปถึงขั้นตอนกระบวนการผลิตต่าง ๆ โดยอ้างอิงตามหลักศาสนาในการจะได้เนื้อมาปรุงอาหารด้วย

นอกจากนี้ การรับรองด้วยมาตรฐานด้านอาหารอย่าง GHPs สำหรับกระบวนการผลิตที่ดีตรงตามมาตรฐานซึ่งจัดทำขึ้นโดยหน่วยงานมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ Codex และ HACCP อันเป็นมาตรฐานของโรงงานเพื่อป้องกันอันตรายจากการปนเปื้อนในอาหารก็มีความสำคัญอย่างมาก

มาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนคงสงสัยกันว่าแล้ว ‘ฮาลาล’ ที่ถูกต้องคืออะไร มีที่มาอย่างไร มาตรฐานฮาลาลนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง รวมไปถึงกรรมวิธีในการจะได้มาซึ่งอาหารฮาลาลที่ถูกหลักตรงตามมาตรฐานนั้นประกอบด้วยขั้นตอนเช่นไรบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลที่สำคัญมาให้คุณแล้ว ไปดูกันเลย

 

ฮาลาล คืออะไร ?

ฮาลาล (Halal) เป็นคำมาจากภาษาอารบิก มีความหมายว่า ‘อนุมัติ’ มักใช้ในการผลิต จำหน่าย หรือให้บริการใด ๆ  ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม เปรียบดั่งวิถีการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิม โดยถ้าหากพูดถึงอาหารฮาลาลก็สามารถอธิบายโดยง่ายว่าอาหารฮาลาลนั้นคืออาหารที่ผ่านกรรมวิธีทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพตามศาสนาบัญญัติไว้ และต้องได้รับมาตรฐานฮาลาลนั่นเอง

ฮาลาล มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า ‘ฮารอม’ ที่หมายถึง ‘ไม่อนุมัติ’ หรือ ‘ต้องห้าม’ ซึ่งเป็นอันเข้าใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ บริการใด ๆ เครื่องดื่มและอาหารฮารอม คืออาหารที่ชาวมุสลิมไม่ควรบริโภคเพราะเป็นอาหารต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม

นอกจากนี้ คำว่า ฮาลาล และ ฮารอม ในอิสลามไม่ได้หมายความเพียงแค่การบริโภคอาหารเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการดำเนินชีวิตในทุก ๆ ด้าน เพราะอิสลามคือระบอบแห่งการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิมนั่นเอง

 

เครื่องหมายฮาลาลหรือมาตรฐานฮาลาลคืออะไร ?

เครื่องหมายฮาลาลหรือมาตรฐานฮาลาล เป็นเครื่องหมายที่คณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยหรือคณะประจำจังหวัดต่างๆ ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการทำการประทับลงบนฉลากของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารเครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ


เครื่องหมายฮาลาลนั้นจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศและรูปแบบการใช้ โดยตัวสัญลักษณ์ของบ้านเราจะเป็นตัวเขียนอาราบิกคำว่า ‘ฮาลาล’ อยู่บนสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ด้านหลังเป็นลายเส้นแนวตั้ง ส่วนด้านล่างใต้กรอบภายในเส้นขนานจะมีคำว่า The Islam Committee Office of Thailand ซึ่งเรียกเป็นไทยว่า สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

 

อาหารฮาลาลสำคัญอย่างไร ?

อาหารนับเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการดำรงชีวิต อาหารฮาลาลเองก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อการบริโภคสำหรับชาวมุสลิมเช่นกัน เพราะอาหารฮาลาลจะต้องปราศจากสิ่งต้องห้ามและผ่านกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบที่ต้องสะอาด การจัดเก็บที่ไม่ปะปนกับอาหารต้องห้ามชนิดอื่น การประกอบอาหารต้องมีคุณภาพและไม่มีสารปรุงแต่ง

ดังนั้นหากอาหารมีเครื่องหมายฮาลาล ชาวมุสลิมหรือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะสามารถเลือกบริโภคได้โดยสนิทใจและปลอดภัย นำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยปัจจุบันอาหารฮาลาลก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะอาหารฮาลาลไม่ได้จำกัดเพียงแค่ชาวมุสลิมหรือชาวไทยมุสลิมเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถบริโภคได้แถมยังมั่นใจได้ด้วยว่าสะอาด

 

สินค้าที่มีเครื่องหมายฮาลาลเป็นสินค้าประเภทใดได้บ้าง ?

สินค้าที่มีเครื่องหมายฮาลาลรับรองนั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นอาหารฮาลาลที่หลายคนน่าจะเคยได้ยิน รู้จักดี หรือเห็นอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้แล้วยังมีสินค้าประเภทอื่น ๆ อีกที่เครื่องหมายฮาลาลรับรอง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม สาธารณูปโภคต่าง ๆ อย่างเช่นเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหนัง หรือแม้แต่ในด้านการเงิน ดอกเบี้ย ตลอดจนเครื่องสำอางและอาหารเสริม ซึ่งหากเราพูดถึงกลุ่มลูกค้าที่บริโภคอาหารฮาลาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นถือว่ามีขนาดที่ใหญ่และกำลังซื้อที่มาก พร้อมด้วยกระแสอาหารเสริมที่กำลังนิยมและมาแรงคู่เทรนด์สุขภาพในปัจจุบัน จึงนับได้ว่าอาหารเสริมฮาลาลเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างรายได้ในขณะนี้

 

อาหารที่ห้ามมาเป็นส่วนประกอบของอาหารฮาลาล 

อาหารที่ห้ามนำมาใช้กับอาหารฮาลาลโดยเด็ดขาดเนื่องจากเป็นอาหารที่ห้ามบริโภคตามหลักอิสลาม ได้แก่

  1. สุนัข สุกร หมูป่า

  2. สัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหารและมีกรงเล็บ อย่างเช่น เสือ หมี

  3. สัตว์ที่มีพิษและเป็นพาหะนำโรค อย่างเช่น หนู ตะขาบ งู

  4. สัตว์ที่ห้ามฆ่าตามหลักศานาอิสลาม ได้แก่ มด ผึ้ง และนกหัวขวาน

  5. สัตว์ที่มีลักษณะน่ารังเกียจ อย่างเช่น เห็บ แมลงวัน หนอน

  6. สัตว์ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับลาหรือล่อ ซึ่งเลี้ยงเอาไว้ใช้งาน

  7. สัตว์บก สัตว์ปีก ที่ล่าหรือบริโภคสัตว์อื่นเป็นอาหาร อย่างเช่น เหยี่ยว ไก่ป่า

  8. เนื้อของซากสัตว์ที่ไม่ได้ผ่านการเชือดโดยถูกหลักศาสนาอิสลามบัญญัติ

  9. เลือดสัตว์ต่าง ๆ

  10. อาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้มึนเมา มีพิษ และเป็นอันตรายทุกชนิด

  11. อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบจากการดัดแปลงพันธุกรรม GMO ของสัตว์ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักศาสนาบัญญัติ

นอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้น ถึงส่วนประกอบที่จะนำมาทำอาหารนั้นเป็นสัตว์ที่สามารถบริโภคได้ แต่ถ้าผ่านการเชือดที่ไม่ถูกวิธีและไม่ตรงตามหลักศาสนาบัญญัติก็จะไม่สามารถเป็นอาหารฮาลาลได้เช่นกัน

 

หลักการของฮาลาล

หน้าที่ของผู้เชือดสัตว์ตามศาสนบัญญัติ 

  • ผู้เชือดต้องเป็นบุคคลที่นับถือศาสนาอิสลาม

  • มีสุขภาพจิตใจที่สมบูรณ์ ไม่เป็นโรคติดต่อ

  • สัตว์ที่นำมาเชือดต้องเป็นสัตว์ที่รับประทานได้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม

  • ในระหว่างการขนส่งต้องไม่ปะปนสัตว์ที่จะเชือดกับสัตว์ต้องห้าม

  • อุปกรณ์ในการเชือดต้องเป็นของมีคมที่ไม่ได้ทำจากเล็บหรือกระดูก

  • ห้ามทารุณสัตว์ก่อนการเชือด 

  • หันหน้าสัตว์ที่จะเชือดไปทางทิศกิบลัต (ทิศเวลาละหมาด) อุปกรณ์ที่ใช้ในการเชือดต้องมีความคมทำให้หลอดลม หลอดอาหาร และเส้นเลือดตรงลำคอสัตว์ขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง โดยผู้เชือดต้องกล่าวนามของพระผู้เป็นเจ้าขณะทำการเชือดด้วย

  • รอจนสัตว์ตายสนิทก่อนนำไปปรุงอาหารต่อ กรณีนี้ยกเว้นเนื้อปลาที่สามารถปรุงได้ทันทีไม่ต้องเชือด

หน้าที่ของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล

  • เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมดูแลการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลจะต้องเป็นชาวมุสลิม

  • ผู้ผลิตจะต้องดูแลรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้ถูกต้องตรงตามหลักศาสนบัญญัติ และไม่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวกับของต้องห้าม

  • วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจะต้องระบุแหล่งที่มาน่าเชื่อถือได้ว่าเป็นฮาลาล 

  • วัตถุดิบจากสัตว์จะต้องเป็นสัตว์ที่ทางศาสนาอนุมัติและได้รับการเชือดตรงตามหลักศาสนบัญญัติ

  • ในระหว่างที่ทำการขนย้าย ขนส่ง หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาลาลนั้นจะต้องไม่ปะปนกับสิ่งต้องห้าม

 

การยื่นขอตราฮาลาลในประเทศไทย

     สำหรับการยื่นขอตราฮาลาลในประเทศไทยนั้นมีกระบวนการหลากหลายขั้นตอนด้วยกัน เริ่มจากการที่ผู้ประกอบการตรวจสอบหาสำนักงานอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งถ้าไม่มีก็จะต้องติดต่อกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยแทน

     ขั้นตอนต่อมาจะเป็นการเตรียมเอกสาร HL.Cicot OC 01-08 เพื่อยื่นคำขอ หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเอกสารครบถ้วนเรียบร้อยแล้วให้ดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมเพื่อตรวจสถานประกอบการ โดยเจ้าหน้าที่จะนัดหมายตรวจโรงงาน ซึ่งตรงนี้จะมีการตรวจสอบโดยละเอียด หลังจากตรวจสอบเรียบร้อยแล้วถึงจะดำเนินการออกหนังสือรับรองให้แก่โรงงาน ในส่วนนี้ผู้ประกอบการต้องชำระค่าธรรมเนียมเพื่อรับหนังสือ โดยตัวหนังสือรับรองตราฮาลาลจะต้องต่ออายุทุกปี

     ระยะเวลาในการดำเนินงานนั้นค่อนข้างใช้เวลารวมถึงเอกสารที่ต้องจัดเตรียมมากมาย สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างรายได้จากโรงงานผลิตอาหารเสริมและต้องการประหยัดเวลาในการยื่นเรื่อง ทางเรามีบริการที่เกี่ยวข้องไว้บริการ ตั้งแต่รับผลิตอาหารเสริม ออกแบบ สร้างแบรนด์พร้อมยื่นจดทะเบียนให้ครบจบในที่เดียว หากสนใจติดต่อปรึกษารายละเอียดได้ฟรีผ่านทางเบอร์โทรศัพท์และไลน์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้