กรดอะมิโน มีกี่ชนิด มีความสำคัญอย่างไรต่อร่างกาย

Last updated: 15 ธ.ค. 2565  |  1124 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรดอะมิโน มีกี่ชนิด มีความสำคัญอย่างไรต่อร่างกาย

ร่างกายของเรามีกรดอะมิโนเป็นส่วนประกอบประมาณ 20 % หรือหากนับเฉพาะมวลกายที่เป็นของแข็งจะมีกรดอะมิโนอยู่มากถึง 50 % กรดอะมิโนจึงนับเป็นส่วนประกอบที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายรองจากน้ำเลยทีเดียว และหลังจากที่เรารับประทานอาหารประเภทโปรตีนเข้าไปแล้ว ร่างกายจะทำการย่อยสลายให้กลายเป็นกรดอะมิโนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ช่วยให้เซลล์เจริญเติบโต ช่วยในการย่อยอาหาร และใช้เป็นพลังงานในร่างกาย

 

กรดอะมิโน คืออะไร ?

 

กรดอะมิโน คือ ชีวโมเลกุลที่มีทั้งหมู่ฟังก์ชันอะมิโน และคาร์บอกซิลิกเป็นส่วนประกอบ กรดอะมิโนเป็นองค์ประกอบสำคัญของโปรตีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด 

กรดอะมิโน คือ หน่วยที่เล็กที่สุดของโปรตีนที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นเมื่อร่างกายได้รับอาหารที่มีโปรตีน ร่างกายจะนำโปรตีนไปย่อยสลายให้กลายเป็นกรดอะมิโน

กรดอะมิโนจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ตั้งแต่จุลินทรีย์จนถึงมนุษย์ สิ่งมีชีวิตทั้งหมดมีกรดอะมิโน 20 ชนิดเหมือนกัน โดยกรดอะมิโนที่เป็นหน่วยย่อย 20 ชนิดนี้ สามารถประกอบกันเป็นโปรตีนได้มากถึง 100,000 ชนิด หากได้รับกรดอะมิโนน้อยเกินไปจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต เกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว อาจเกิดอาการเบื่ออาหาร มีภูมิต้านทานต่ำ ติดเชื้อง่าย และก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ขึ้น

 

ประโยชน์ของกรดอะมิโน 

 

กรดอะมิโนเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย มีหน้าที่ให้พลังงานและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายโดยตรง เพราะกรดอะมิโนเป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือด กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ ฮอร์โมน และเอนไซม์ ดังนั้นจึงมีบทบาทสำคัญในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

  ด้านสุขภาพ

หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของกรดอะมิโน คือ การให้พลังงานแก่ร่างกาย สร้างความสมดุลในการทำงานของร่างกาย ปกติร่างกายที่แข็งแรงจะได้รับคาร์โบไฮเดรตที่เป็นแหล่งพลังงานจากการกินอาหาร แต่โปรตีนและกรดอะมิโนสามารถใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายได้เมื่อแหล่งพลังงานหลัก ๆ ของร่างกายหมดลง เนื่องจากการขาดอาหาร หรือใช้พลังงานมากเกินไป

 

  ด้านโภชนาการ

กรดอะมิโนเป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกายมนุษย์ และมีบทบาทสำคัญต่อโภชนาการของมนุษย์เช่นกัน ร่างกายจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากขาดกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อกล้ามเนื้อ ผม เล็บ และผิวหนัง เช่นเดียวกับฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ การบริโภคกรดอะมิโนจึงจำเป็นต่อการซ่อมแซมกล้ามเนื้อเมื่อขาดโปรตีน ทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ความชรา และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของร่างกายด้วย

 

  ด้านอาหาร

กรดอะมิโนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อาหารประเภทโปรตีนมีรสชาติ การรวมกันของกรดอะมิโนในรูปแบบต่าง ๆ จะเป็นตัวกำหนดรสชาติที่ลิ้นของคนเราสามารถรับรู้ได้ กรดอะมิโนที่รู้จักกันดีที่สุดเกี่ยวกับการรับรสคือ กลูตาเมต (Glutamic Acid)  หรือที่เราเรียกว่ารส “อูมามิ” นั่นเอง

 

  ด้านการแพทย์  

แอล-อาร์จีนีน แอล-กรดแอสปาติก และ แอล-กรดกลูตามิก เป็นสารประกอบที่มีกรดอะมิโน และมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคทางสมองที่เกี่ยวข้องกับแอมโมเนียในเลือดสูง (Hyperammonemia) และ โรคตับ (Hepatic disorder) ฃส่วนสารประกอบอะมิโนกลุ่มโพแทสเซียม หรือ แมกนีเซียม แอล-แอสปาเตต จะช่วยลดการเกิดหัวใจล้มเหลว และโรคตับ ซีสเตอีน ใช้ป้องกันเนื้อเยื่อจากการ oxidation หรือ inactivation และสามารถช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากรังสีได้

 

ชนิดของกรดอะมิโน 

 

 

กรดอะมิโนมีความจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ และยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญรองจากน้ำ เราจึงควรที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรดอะมิโนว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ?

 

  กรดอะมิโนจำเป็น

กรดอะมิโนมาตรฐานที่มีประมาณ 20 ตัวนั้นจะมีอยู่ 9 ตัวที่เป็นกรดอะมิโนจำเป็น เพราะว่ามันไม่สามารถสังเคราะห์ได้ในร่างกาย แต่จะได้จากการย่อยอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ซึ่งกรดอะมิโนจำเป็นในมนุษย์ ได้แก่

  • ไลซีน : ช่วยสร้างพลังงาน ฮอร์โมน คอลลาเจน และอีลาสติน รวมทั้งช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน การดูดซึมของแคลเซียม และเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

  • ลิวซีน : ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่สึกหรอ ฟื้นฟูบาดแผล รักษาระดับน้ำตาลในเลือด

  • ไอโซลิวซีน : ช่วยในกระบวนการเปลี่ยนแปลงพลังงานในกล้ามเนื้อ และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

  • เมไทโอนีน : ช่วยในการทำงานของระบบเผาผลาญ การกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย และการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ รวมทั้งช่วยในการดูดซึมแร่ธาตุในร่างกาย

  • ฟีนิลอะลานีน : จำเป็นต่อการสร้างสารสื่อประสาทในสมองหลายชนิด มีส่วนสำคัญในโครงสร้างของโปรตีนและช่วยในการผลิตกรดอะมิโนชนิดอื่น ๆ

  • ทรีโอนีน : ช่วยสร้างโปรตีนอย่างคอลลาเจนและอีลาสติน ช่วยในการเผาผลาญไขมัน การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยให้เลือดแข็งตัว ป้องกันเลือดออกผิดปกติ

  • ทริปโตเเฟน : เป็นสารตั้งต้นในการสร้างเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมความอยากอาหาร การนอนหลับ และอารมณ์ ช่วยรักษาสมดุลของไนโตรเจนในร่างกาย

  • วาลีน : ช่วยในการสร้างพลังงาน เสริมสร้างการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อและการสร้างเนื้อเยื่อใหม่

  • ฮิสทิดีน : ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบย่อยอาหาร การนอนหลับ

 

  กรดอะมิโนไม่จำเป็น

กรดอะมิโนไม่จำเป็นที่เหลือนั้น สามารถสังเคราะห์ได้จากกรดอะมิโนอื่น ๆ ในร่างกายกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็น ได้แก่

  • อะลานีน : ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และลดอาการต่อมลูกหมากโต

  • อาร์จินีน : ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยขยายหลอดเลือด เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกาย และลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี

  • แอสพาราจีน : กรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นซึ่งร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้

  • กรดแอสปาร์ติก : ช่วยในการขับแอมโมเนีย ซึ่งเป็นสารอันตรายออกจากร่างกาย ช่วยปกป้องระบบประสาทส่วนกลาง และยังช่วยเพิ่มความทนทานต่อการเหนื่อยล้าได้ด้วย

  • ซีสเทอีน : ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และมีความจำเป็นสำหรับทารกและผู้สูงอายุ

  • กรดกลูตามิก : โดยทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท มีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้และจดจำเป็นเชื้อเพลิงให้แก่สมอง ช่วยจัดการกับแอมโมเนียส่วนเกิน

  • กลูตามีน : เป็นส่วนหนึ่งของกลูต้าไธโอน มีส่วนช่วยให้ฉลาดขึ้น และช่วยเพิ่มระดับของโกรทฮอร์โมน

  • ไกลซีน : ช่วยรักษาภาวะต่อมใต้สมองทำงานน้อย รักษาโรคกล้ามเนื้อฝ่อลีบ รักษาภาวะน้ำตาลต่ำ

  • โพรลีน : กรดอะมิโนที่มีอยู่ในคอลลาเจนที่ประกอบเป็นเนื้อเยื่อผิวหนัง มีส่วนช่วยปรับโครงสร้างผิว บำรุงผิวชุ่มชื้น

  • เซอรีน : ช่วยเผาผลาญไขมัน เพิ่มการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

  • ไทโรซีน : ช่วยส่งเสริมการทำงานของต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ และช่วยรักษาอาการซึมเศร้า 

 

 

การขาดกรดอะมิโนจำเป็น

 

 

เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายขาดโปรตีน (กรดอะมิโนจำเป็น) อาจทำให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ การเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามเกณฑ์ การทำงานของหัวใจ ภูมิคุ้มกัน และระบบทางเดินหายใจอ่อนแอ สำหรับคนทั่วไปที่มีการกินอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอก็จะได้รับกรดอะมิโนจำเป็นมากพอ และไม่มีการขาดโปรตีนแต่อย่างใด

 

กรดอะมิโน โปรตีน และเปปไทด์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ?

 

โปรตีนเป็นสารที่มีขนาดใหญ่  โครงสร้างของโปรตีนจะประกอบด้วยหน่วยย่อยคือ กรดอะมิโน (Amino Acid) จำนวน 20 ตัว และเชื่อมกรดอะมิโนให้เรียงต่อกันเป็นสายยาวด้วยพันธะเปปไทด์ ความแตกต่างระหว่างโปรตีน และ เปปไทด์ คือ ขนาดและโครงสร้าง

  • ขนาด : โปรตีนประกอบด้วยกรดอะมิโน 20 ตัว ในขณะที่เปปไทด์ประกอบด้วยกรดอะมิโนตั้งแต่ 2 ขึ้นไป จึงทำให้เปปไทด์มีขนาดเล็กกว่าโปรตีน

  • โครงสร้าง : โปรตีนเกิดจากการเชื่อมต่อกันของกรดอะมิโนเป็นสายยาว ในขณะที่เปปไทด์เกิดจากการรวมตัวของกรดอะมิโนไม่กี่ตัว บางครั้งจึงอาจเรียกได้ว่า โปรตีนเกิดจากการเชื่อมต่อกันของเปปไทด์ด้วย ดังนั้นกรดอะมิโนจึงเป็นหน่วยย่อยที่สุดของโปรตีน เมื่อกรดอะมิโนเชื่อมต่อกันสั้น ๆ จะเรียกว่าเปปไทด์ แต่ถ้ากรดอะมิโนจำนวนมากเชื่อมต่อกัน หรือเปปไทด์เชื่อมต่อกัน จะเรียกว่าเป็นโปรตีนนั่นเอง

กล่าวโดยสรุป โปรตีนเป็นโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนจำนวนมากเชื่อมต่อกันด้วยพันธะเปปไทด์ ในขณะที่เปปไทด์ประกอบด้วยกรดอะมิโนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

การดูดซึมกรดอะมิโนเข้าสู่ร่างกาย

 

โปรตีนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางลำไส้ แต่สารที่ดูดซึมเข้าไปไม่ใช่โปรตีน ร่างกายจะต้องย่อยโปรตีนให้กลายเป็นกรดอะมิโนก่อนจึงจะดูดซึมและนำไปใช้งานต่อได้ เปปไทด์ในอาหารส่วนใหญ่จะถูกย่อยสลายในระบบทางเดินอาหารจนกลายเป็นกรดอะมิโนธรรมดา จากนั้นจะถูกลำเลียงเข้าสู่กระแสเลือด และส่งต่อไปที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของเรา 

 

โครงสร้างของกรดอะมิโน

 

โครงสร้างทางเคมีของกรดอะมิโน จะประกอบด้วย 4 ส่วนที่เชื่อมกันด้วยพันธะเปปไทด์

  • หมู่คาร์บอกซิล (-COOH) บ่งชี้ความเป็นกรดของกรดอะมิโน

  • หมู่อะมิโน (-NH2) บ่งชี้ความเป็นเบสของกรดอะมิโน

  • หมู่ R เป็นหมู่ฟังก์ชันอื่น ๆ หรือ โซ่ข้าง จะบ่งชี้ความแตกต่างของชนิดอะมิโน เพราะกรดอะมิโนแต่ละชนิดจะมีหมู่ R ไม่เหมือนกัน

  • ไฮโดรเจน (H) เป็นธาตุที่สำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิต

 

ชนิดหมู่ R ของกรดอะมิโน

 

หมู่ R แทน side chain หรือหมู่ฟังก์ชัน ซึ่งมีความเฉพาะสำหรับกรดอะมิโนแต่ละตัว กรดอะมิโนสามารถแบ่งตามคุณสมบัติของหมู่ฟังก์ชันได้เป็น

 

หมู่ R ที่โมเลกุล มีขั้วและไม่มีประจุ

หมู่ R ของกรดอะมิโนพวกนี้จะทำให้กรดอะมิโนละลายน้ำได้ดี โดยการสร้างพันธะไฮโดรเจนกับน้ำ ตัวอย่างของกรดอะมิโนกลุ่มนี้ ได้แก่ เซอรีน ทรีโอนีน ซิสตีอีน มีไธโอนีน กลูตามีน แอสพาราจีน

 

หมู่ R มีประจุ

 เป็นกรดอะมิโนที่ชอบน้ำมาก และสามารถแบ่งเป็น

  • หมู่ R มีประจุลบ ได้แก่ กรดแอสปาร์ติก และกลูตาเมต โดยจะแตกตัวให้ประจุลบที่ pH7

  • หมู่ R มีประจุบวก ได้แก่ ไลซีน อาร์จินีน ฮิสทิดีน โดยจะแตกตัวให้ประจุบวกที่ pH7

 

หมู่ R เป็นโมเลกุลที่ไม่มีขั้ว

เป็นโมเลกุลที่ไม่มีขั้ว และไม่ชอบน้ำ (hydrophobic) ได้แก่ ไกลซีน อะลานีน วาลีน ลิวซีน ไอโซลิวซีน และ โพรลีน กรดอะมิโนเหล่านี้มีบทบาทในการทำปฏิกิริยากับส่วนที่ไม่ชอบน้ำของโปรตีน และสามารถช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของโปรตีนได้ด้วย

 

เติมกรดอะมิโนที่จำเป็นให้เเก่ร่างกาย

 

กรดอะมิโนจำเป็นมีความสำคัญต่อร่างกาย เช่น สังเคราะห์โปรตีน เสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยปกติคนทั่วไปจำเป็นต้องได้รับกรดอะมิโนจำเป็นอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นอาจต้องกินอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของกรดอะมิโนเพื่อให้ร่างกายของเราทำงานได้ตามปกติ

 

 

 อาหารเสริมที่เราจะแนะนำให้รู้จักในที่นี้ คือผลิตภัณฑ์ Plant-Based Protein อาหารเสริมที่มีส่วนประกอบมาจากพืช เป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถดูแลสุขภาพ เพิ่มพลังงาน เสริมการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย และยังสามารถป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้อีกด้วย 

 

     สำหรับผู้ที่อยากริเริ่มธุรกิจอาหารเสริม แต่ยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ไว้ใจ Derma Health เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการผลิตอาหารเสริมทุกประเภท พร้อมยินดีให้คำปรึกษาแก่คุณ หากสนใจสามารถติดต่อได้ที่

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้